ชาติภูมิ สู่ร่มกาสาวพัสตร์
พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) เกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี ในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งของอำเภอวารินชำราบ เมื่อวันศุกร์ ที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑ (แรม ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย) เป็นบุตรคนที่ ๕ ของนายมา และนางพิมพ์ ช่วงโชติ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๑๐ คน
“ตอนเด็ก ๆ คิดอยากจะเล่นเป็นพระ ก็เลยตั้งตนเป็นสมภารขึ้นมา เอาผ้าขาวม้าห่มเป็นจีวร ถึงเวลาฉันเพล ก็ตีระฆังแก๊ง ๆ ให้เพื่อน ๆ ที่เล่นเป็นโยมอุปัฏฐาก เอาน้ำมาให้ แล้วรับศีลรับพร”
หลังจากจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ จากโรงเรียนบ้านก่อแล้ว เด็กชายชาได้ขอให้พ่อแม่พาตัวไปฝากเป็นลูกศิษย์วัด พ่อแม่ก็ไม่ขัดข้องและพาไปอยู่ในความอุปการะของพระอาจารย์ที่วัดบ้านก่อนอก เด็กชายชาจึงมีโอกาสได้เรียนรู้กฎระเบียบและกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ตามวิสัยเด็กวัดเป็นครั้งแรก
หลังจากได้รับการอบรมพอสมควร และมีอายุถึงเกณฑ์บรรพชา เจ้าอาวาสเห็นว่าเป็นเด็กเรียบร้อย รู้จักอุปัฏฐากรับใช้ครูบาอาจารย์ด้วยดีมาตลอด อีกทั้งขยันหมั่นเพียร จึงจัดการให้ได้รับการบรรพชาที่วัดบ้านก่อ โดยมี พระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง) เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม จ.อุบลราชธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ ขณะนั้นอายุได้ ๑๓ ปี แต่ได้ลาสิกขาเมื่ออายุได้ ๑๖ ปี เพื่อเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวในกิจการงานต่าง ๆ โดยเฉพาะการทำนาซึ่งเป็นอาชีพหลักของครอบครัว
เมื่ออายุครบ ๒๑ ปี และทราบว่าไม่ต้องเข้ารับราชการทหาร หลวงพ่อชาก็ตัดสินใจออกบวชด้วยความชื่นชมยินดีของโยมพ่อโยมแม่
กำหนดการอุปสมบทมีขึ้นในวันพุธ ที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ เวลา ๑๓.๕๕ น.
ณ พัทธสีมาวัดก่อใน ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
โดยมี พระครูอินทรสารคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์
พระครูวิรุฬสุตการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
และพระอธิการสวน เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ได้รับฉายาว่า สุภทฺโท (ผู้เจริญด้วยดี)
แสวงหาพ่อแม่ครูบาอาจารย์
หลวงพ่อสอบนักธรรมชั้นตรี (น.ธ.ตรี) ได้ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ณ วัดก่อนอก อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี สอบ น.ธ.โท ได้ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ณ วัดบ้านเค็งใหญ่ อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี (ภายหลังเปลี่ยนเป็น อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ) แต่ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ขณะที่ท่านกำลังศึกษา น.ธ.เอก และบาลีไวยากรณ์อยู่นั้น ก็ได้รับข่าวจากทางบ้านว่าโยมบิดาป่วยหนัก จึงตัดสินใจทิ้งการสอบนักธรรมไว้เบื้องหลัง รีบรุดกลับบ้านเพื่อเยี่ยมดูอาการป่วย และเป็นธุระในการเฝ้ารักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ จนกระทั่งโยมบิดาถึงแก่กรรมในที่สุด และได้ให้คำมั่นสัญญาในวาระสุดท้ายของชีวิตโยมบิดาว่า “ไม่สึกหรอก จะสึกไปทำไม”
หลวงพ่อได้นึกเปรียบเทียบการประพฤติปฏิบัติของตนกับพระสงฆ์สาวกในครั้งพุทธกาล รู้สึกว่าช่างห่างไกลลิบลับ เปรียบเทียบกันไม่ได้เลย จึงเริ่มเบื่อหน่ายต่อการศึกษา ประกอบกับเมื่อได้ระลึกถึงภาพของโยมบิดาที่นอนป่วยและสิ้นใจไปต่อหน้า ยิ่งทำให้เกิดความสลดสังเวชใจ ทำให้ท่านปักใจแน่วแน่ว่าชีวิตนี้จะต้องอุทิศให้กับการประพฤติปฏิบัติ
ดังนั้น หลังจากสอบผ่าน น.ธ.เอก ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ณ วัดก่อนอก ท่านจึงจัดบริขารจาริกธุดงค์ เพื่อออกแสวงหาครูบาอาจารย์ด้านการปฏิบัติ ต่อไป
ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ หลวงพ่อชาได้ออกธุดงค์จากจังหวัดอุบลฯ สู่ภาคกลาง แสวงหาครูบาอาจารย์ เพื่อเป็นที่พึ่งทางจิตใจ เมื่อถึงจังหวัดลพบุรีแล้ว หลวงพ่อชามุ่งหน้าสู่วัดเขาวงกต สำนักสงฆ์ของหลวงปู่เภา แต่ท่านได้มรณภาพเสียก่อน เหลือแต่ลูกศิษย์ หลวงพ่อชาตัดสินใจจำพรรษาที่วัดเขาวงกตนี้เพื่อศึกษาพระวินัย โดยศึกษาจากหนังสือวิสุทธิมรรค และบุพพสิกขาวรรณนา แล้วสรุปลงในสมุดบันทึกประจำตัวด้วยลายมือของท่านเอง ท่านได้อาศัยสมุดบันทึกเล่มนี้เป็นแหล่งอ้างอิงเรื่อยมา ที่นี่หลวงพ่อตัดสินใจสละปัจจัย (เงิน) และสิ่งของที่ได้มาโดยไม่บริสุทธิ์ทั้งหมด และปฏิญาณว่าสิ่งใดที่ไม่บริสุทธิ์และไม่ถูกต้องตามพระวินัยจะไม่รับ ไม่เกี่ยวข้อง และไม่ล่วงละเมิดอีกเป็นอันขาด ระหว่างพรรษานั้นเองหลวงพ่อได้ยินถึงกิตติศัพท์ของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต หลังออกพรรษาหลวงพ่อจึงธุดงค์สู่ จ.สกลนคร เพื่อไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่น
“วัดหนองป่าพงนี้สมัยนั้นอาตมาเป็นเด็ก ๆ ได้ยินโยมพ่อเล่าให้ฟังว่า ท่านอาจารย์เสาร์ ท่านอาจารย์เสาร์นี่ ท่านมาพักอยู่ที่นี่ โยมพ่อเคยได้มาฟังธรรมกับท่าน อาตมาเป็นเด็ก ๆ ยังจำได้ ความจำเช่นนี้มันติดอยู่ในใจตลอดเวลา นึกอยู่เสมอเลย...
...โยมพ่ออาตมานั้นก็ไม่ค่อยได้บวช ไม่ค่อยได้ศึกษา มากราบพระกรรมฐาน มาดูท่านฉันจังหัน แต่เอาอาหารอะไร ๆ รวมไปในบาตรทั้งนั้นแหละ ข้าวก็รวมไปในบาตร แกงก็รวมไปในบาตร หวาน คาว ใส่ในบาตรหมด โยมพ่อไม่เคยเห็น เอ๊ะ ไอ้นี่พระอะไรนี่ ท่านเล่าให้ฟัง อาตมาเป็นเด็ก ๆ เขาเรียกว่า ‘พระกรรมฐาน’ เทศน์ก็ไม่เหมือนพระธรรมดาหรอก อยากจะฟังเทศน์ก็ไม่ได้ฟัง มีแต่พูดโต้ง ๆ ไปเท่านั้นแหละ เลยไม่ได้ฟังเทศน์กัน เป็นอย่างนี้ ได้ฟังแต่พูดของท่านอันนั้นพระปฏิบัติ มาอาศัยอยู่นี่ เมื่อเราได้ออกประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ไอ้ความรู้สึกอันนี้มันมีอยู่ในใจตลอดเวลา”
- หลวงพ่อชา สุภทฺโท
พระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล)
(๒๔๐๒-๒๔๘๔)
วัดเลียบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
“พูดถึงเรื่องอาการทั้งหลายเหล่านี้ ท่านอาจารย์มั่นท่านบอกว่า เป็นอาการ เราไม่รู้อาการทั้งหลายก็นึกว่าเป็นความจริงทั้งหมด นึกว่าจิตเราทั้งหมด แต่มันเป็นอาการ ทั้งนั้นน่ะ พอท่านบอกว่าเป็นอาการ เราสว่างเลยทีเดียว อย่างความดีใจอย่างนี้ มันก็มีอยู่ในใจ แต่ว่ามันเป็นอาการ มันคนละอย่างคนละชั้นกันอยู่กับตัวจิต ถ้าความเป็นจริงรู้แล้ว มันก็เลิก มันก็วาง เป็นสมมุติแล้วมันก็เป็นวิมุตติ มันเป็นอยู่อย่างนี้ คนบางคนก็เอามารวมทั้งหมดเป็นตัวจิตเสีย ความเป็นจริงมันเป็นอาการกับผู้รู้ ติดต่อกันอยู่
ถ้าเรารู้จักอันนี้แล้ว ก็เรียกว่ามันไม่มีอะไรมาก”
- หลวงพ่อชา สุภทฺโท
พระครูวินัยธร (มั่น ภูริทตฺโต)
(๒๔๑๓-๒๔๙๒)
วัดป่าภูริทัตตถิราวาส (วัดป่าบ้านหนองผือ)
อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
“วิธีปฏิบัติของท่านอาจารย์เสาร์ ท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์ทองรัตน์ ท่านเจ้าคุณอุบาลี นี่หลักนี้อย่าทิ้ง แน่นอนจริง ๆ ถ้าทำตามท่าน ถ้าปฏิบัติตามท่าน เห็นตัวเองจริง ๆ ท่านอาจารย์เหล่านี้ เรื่องศีลท่านพยายามรักษาให้แน่นอน ท่านไม่ข้าม
การเคารพครูบาอาจารย์ การเคารพข้อวัตรปฏิบัตินั้น ถ้าครูบาอาจารย์บอกให้ทำก็ทำ ถ้าท่านว่าผิด ให้หยุดก็หยุด ชื่อว่าทำเอาจริง ๆ จัง ๆ ให้เห็นให้เป็นขึ้นในใจ ท่านอาจารย์บอกอย่างนี้ ดังนั้น พวกลูกศิษย์ทั้งหลายจึงมีความเคารพยำเกรงในครูบาอาจารย์มาก เพราะเห็นตามรอยของท่าน”
- หลวงพ่อชา สุภทฺโท
หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล
(๒๔๓๑-๒๔๙๙)
วัดป่าบ้านคุ้ม (วัดป่ามณีรัตน์)
อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี
“เราประมาทคิดว่าครูบาอาจารย์จะไปถึงไหนกัน เดินจงกรมก็ไม่เดิน นั่งสมาธินาน ๆ ก็ไม่เคยนั่ง คอยแต่จะทำนั่นทำนี่ตลอดวัน แต่เรานี่ปฏิบัติไม่หยุดเลย ถึงขนาดนั้นก็ยังไม่รู้เห็นอะไร ส่วนหลวงปู่ปฏิบัติอยู่แค่นั้น จะไป
รู้เห็นอะไรเล่า”
“เรามันคิดผิดไป หลวงปู่ท่านรู้อะไร ๆ มากกว่าเราเสียอีก คำเตือนของท่านสั้น ๆ และไม่ค่อยมีให้ฟังบ่อยนัก เป็นสิ่งที่ลุ่มลึกแฝงไว้ด้วยปัญญาอันแยบคาย ความคิดของครูบาอาจารย์กว้างไกลเกินปัญญาของเราเป็นไหน ๆ ตัวแท้ของการปฏิบัติ คือ ความพากเพียรกำจัดอาสวะกิเลสภายในใจ ไม่ใช่ถือเอากิริยาอาการภายนอกของครูบาอาจารย์มาเป็นเกณฑ์”
- หลวงพ่อชา สุภทฺโท
หลวงปู่กินรี จนฺทิโย
(๒๔๓๙-๒๕๒๓)
วัดกันตะศิลาวาส อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
พระกรรมฐาน
หลวงพ่อได้เริ่มจาริกธุดงค์เพื่อปลีกวิเวก เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยพักแรมภาวนาตามป่าบ้าง หรืออาศัยวัดบ้าง บางทีก็ภาวนาตามป่าช้า หรือวัดร้าง อีกทั้งยังได้มีโอกาสเข้าศึกษาระเบียบ ข้อปฏิบัติและพระธรรมวินัย กับครูบาอาจารย์ตามสำนักต่าง ๆ ที่ท่านไปพำนักอาศัย และได้อุบายในการภาวนาด้วย เมื่อใดที่หลวงพ่อเดินธุดงค์รอนแรมพักภาวนาตามป่าเขาหรือสถานที่วิเวกต่าง ๆ ท่านมีข้อปฏิบัติที่เคร่งครัดไม่ย่อหย่อน เพื่อเร่งความเพียร เป็นต้นว่า เดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ สลับกันไปตลอดคืน หรือเดินจงกรมอย่างเดียว นั่งสมาธิอย่างเดียวตลอดคืน
“โดยมากพระกรรมฐาน หรือพระธุดงค์ที่อยู่ในป่าส่วนมาก ไม่ได้ศึกษาธรรมะตามตัวหนังสือ ไม่ได้เรียนตามบทเรียนในตำรา ท่านเรียนธรรมะจากอาการที่เกิดขึ้นในจิต หาความจริงจากธรรมชาติ”
วัดหนองป่าพง
ในช่วงบ่ายของวันจันทร์ ที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ หลวงพ่อชาพร้อมคณะเดินธุดงค์มาถึงชายป่าดงดิบอันหนาทึบ ที่ชาวบ้านในสมัยนั้นเรียกว่า “ดงหนองป่าพง” ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านก่อ บ้านเกิดของหลวงพ่อประมาณ ๒ - ๓ กิโลเมตร หลวงพ่อได้ปรารภถึงเหตุที่เดินทางมาสถานที่แห่งนี้ว่า
“แต่ที่มาถึงวัดป่าพงนี้ก็มีญาติโยมแม่นิมนต์มา ก็ได้มานี่ มาอาศัย เพราะเราก็...ท่านเป็นผู้อุปการะมา แต่เกิดมาก็ยังไม่มีอะไรจะตอบแทนบุญคุณของท่าน เลยวกมาอยู่ที่วัดหนองป่าพงนี้ ...สมัยนั้นอาตมาเป็นเด็ก ๆ ได้ยินโยมพ่อเล่าให้ฟังว่า ท่านอาจารย์เสาร์... ท่านมาพักอยู่ที่นี่ โยมพ่อเคยได้มาฟังธรรมกับท่าน อาตมาเป็นเด็ก ๆ ยังจำได้ ความจำเช่นนี้มันติดอยู่ในใจตลอดเวลา นึกอยู่เสมอเลย… อันนั้นพระปฏิบัติเคยมาอาศัยอยู่นี้ เมื่อได้ออกประพฤติปฏิบัติแล้ว ความรู้สึกอันนี้มันมีในใจตลอดเวลา เมื่อหันหน้าเข้ามาทางบ้าน ก็นึกถึงป่านี้แหละมิได้ขาด”
แม้ป่าแห่งนี้จะเป็นจุดสุดท้ายแห่งชีวิตธุดงค์ของหลวงพ่อชา แต่ประสบการณ์จากชีวิตธุดงค์ ยังทรงไว้ซึ่งคติธรรมคำสอนอันล้ำค่าสำหรับกุลบุตรลูกหลานที่เข้ามาศึกษาปฏิบัติในสำนัก วัดหนองป่าพงแห่งนี้
ความเป็นสมณะ
ชีวิตในครึ่งหลังที่วัดหนองป่าพงของหลวงพ่อชา เป็นชีวิตแห่งการปกครอง การถ่ายทอดความเป็นสมณะสู่พระภิกษุสามเณรรุ่นหลังด้วยการทำเป็นแบบอย่าง การให้โอวาทพระธรรมวินัย การพร่ำสอนตักเตือน การฝึกฝนด้วยข้อวัตรและกฎกติกาสงฆ์ ตลอดจนการฝึกอบรมจิตภาวนา อีกทั้งยังให้ความอนุเคราะห์สั่งสอนญาติโยมให้ประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรม
“ในโอกาสอันใดที่ผมสอนท่าน ในขณะไหนก็ตาม ให้ท่านทั้งหลายเข้าไปพิจารณาอันนั้น เป็นหน้าที่ของพวกท่าน ทั้งหลายจะปฏิบัติเอง หน้าที่ของผมนี้ ก็จะเป็นผู้สงเคราะห์พวกท่านทั้งหลาย ทั้งวัตถุที่สมควร ทั้งทางธรรมะ ทั้งข้อประพฤติปฏิบัติอะไร ๆ ทั้งสิ้นเป็นต้น มันก็เป็นหน้าที่ของผมเสียแล้ว เพราะท่านมาอาศัยผม ผมก็ต้องอนุเคราะห์พวกท่านทั้งหลายเท่าที่ควร พอสมควร”
หลวงพ่อเน้นเรื่องความเคารพยำเกรงในสงฆ์ (หมู่คณะ) เป็นสำคัญ และให้รักษาวัตรอันดีงามทั้งหลายไว้ไม่ให้ขาด ซึ่งจะเป็นเหตุให้ความสามัคคียืนยงมั่นคง ยังพุทธศาสนาให้เจริญ
สานต่อหน่อแห่งโพธิญาณ
หลวงพ่อชาได้วางรากฐานให้คณะสงฆ์ที่วัดหนองป่าพงมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น และสามัคคีกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยการฝึกลูกศิษย์ให้รับผิดชอบงานในหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้ท่านเหล่านั้นได้มีประสบการณ์ และฝึกการประสานความร่วมมือกัน
ต่อมา เมื่อมีชาวบ้านนิมนต์หลวงพ่อไปตั้งสาขา ท่านจะพิจารณาดูกำลังศรัทธาของชาวบ้าน ถ้าเป็นที่น่าพอใจ จึงค่อยจัดส่งศิษย์อาวุโสไปอยู่ หรือในกรณีที่ญาติโยมนิมนต์พระผู้เป็นญาติกลับไปโปรดที่บ้านเกิดของท่านเอง ท่านก็ต้องพิจารณาดูวุฒิภาวะของลูกศิษย์ตามสมควร แต่ในบางกรณีลูกศิษย์หลวงพ่อออกธุดงค์พบสถานที่สัปปายะ และตัดสินใจปักหลักอยู่ที่นั่นจนกลายเป็นสำนักสงฆ์
ธรรมดาเมื่อต้องไปอยู่ห่างไกลจากครูบาอาจารย์ ลูกศิษย์อาจรู้สึกว้าเหว่ขาดที่พึ่ง แต่หลวงพ่อย้ำเสมอให้ลูกศิษย์ที่ไปพำนักอยู่ตามวัดสาขามีจิตใจหนักแน่นในข้อประพฤติปฏิบัติ ครั้งหนึ่งหลวงพ่อไปเยี่ยมลูกศิษย์ ซึ่งกำลังเป็นทุกข์ไม่สบายใจเพราะอยู่ห่างไกลจากครูบาอาจารย์ หลวงพ่อท่านกล่าวเตือนสติว่า “มีอาจารย์อยู่ตั้ง ๖ องค์ ยังไม่พอหรือ... มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่แหละเป็นอาจารย์ ฟังให้ดี ดูให้ดี เขาจะสอนเราให้เกิดปัญญา”
ทดแทนพระคุณ
หลวงพ่อชาได้แสดงกตเวทิตาธรรมต่อบุพการีของท่าน โดยในสมัยที่ท่านอุปสมบทใหม่ ๆ กำลังขะมักเขม้นเรียนนักธรรม โยมบิดาได้ป่วยหนัก แต่หลวงพ่อก็ตัดสินใจทิ้งอนาคตการศึกษาปริยัติธรรมของท่านไว้เบื้องหลัง เพื่อกลับบ้านไปดูแลรักษาพยาบาลโยมบิดาผู้มีความภูมิใจอย่างยิ่งที่ลูกชายได้เดินเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ และปรารถนาที่จะเห็นพระลูกชายเจริญในพระธรรมวินัย ครั้นเมื่อโยมบิดากำลังสิ้นลมหายใจ หลวงพ่อได้ให้คำมั่นสัญญาต่อหน้าผู้บังเกิดเกล้าว่า “ไม่สึกหรอก จะสึกไปทำไม”
ท่านยังเป็นเหตุให้โยมมารดาได้เข้าสู่กระแสพระธรรม คือ หลังจากที่หลวงพ่อได้ตั้งหลักแหล่งที่วัดหนองป่าพง ได้ประมาณเดือนเศษ ท่านก็อนุเคราะห์โยมมารดาและเพื่อนอีก ๓ คน ให้ได้บวชเป็นแม่ชีชุดแรกของวัดหนองป่าพง และโยมมารดาท่านยังสิ้นชีวิตในเพศนักบวชอีกด้วย สมดังที่ท่านได้ตั้งปณิธานไว้ว่า
“แต่ที่มาถึงวัดป่าพงนี้ก็มีญาติโยมแม่นิมนต์มา ก็ได้มานี่มาอาศัย เพราะเราก็..ท่านเป็นผู้อุปการะมา แต่เกิดมาก็ยังไม่มีอะไรจะตอบแทนบุญคุณของท่าน เลยวกมาอยู่ที่วัดหนองป่าพงนี้”
เคียงคู่บวรพุทธศาสตร์
สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยและคณะสงฆ์ไทย ได้ให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ด้วยการทำนุบำรุงศาสนาใน ๔ มิติ คือ บำรุงศาสนธรรม อุปถัมภ์ศาสนบุคคล บันดาลดลศาสนวัตถุ ทำนุศาสนพิธี
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงเป็น “พุทธมามกะ” ผู้ซึ่งเปี่ยมด้วยพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนา เคารพยึดมั่นในพระรัตนตรัย และทรงเป็น “พุทธศาสนูปถัมภก” ทรงอุปถัมภ์ค้ำชู จรรโลงพระพุทธศาสนา ดำรงพระองค์สืบสานพระราชจริยวัตรของสมเด็จพระบูรพมหากษัตราธิราชเจ้าตลอดรัชสมัยแผ่นดิน พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสมณศักดิ์ หลองพ่อชา เป็นพระราชาคณะมีนามว่า พระโพธิญาณเถร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๖
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงอุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองเช่นเดียวกัน พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีตัดลูกนิมิต อุโบสถวัดหนองป่าพง วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๗
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงให้การส่งเสริมศาสนบุคคล ให้การดูแลรักษาศาสนวัตถุ และทรงให้คุณค่าความสำคัญกับศาสนาพิธี พระองค์ได้เสด็จมาเป็นประธานในพิธีเททองหล่อรูปเหมือนพระโพธิญาณเถร วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ และเสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์พิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) วันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๗
ธรรมะไม่ใช่ของใคร
“ไอ้ความจริงนี้น่ะ ธรรมะไม่ใช่เป็นของพุทธ ไม่ใช่เป็นของคริสต์ ไม่ใช่เป็นของเถรวาท มหายาน ไม่ใช่เป็นของใคร คือ ความจริงที่ตั้งอยู่ในโลกนี้...”
ปี ๒๕๑๐ พระสุเมโธ ลูกศิษย์ฝรั่งรูปแรกเดินทางมาขออยู่ศึกษากับหลวงพ่อที่วัดหนองป่าพง ท่านได้เมตตารับไว้โดยมีเงื่อนไขว่า “...จะมาอยู่ด้วยก็ได้ ลำาบากสักหน่อย แต่ผมจะไม่บำรุงท่าน ทำไม กลัวท่านจะโง่ เข้ามาในเมืองไทยนี่ทำไม ก็ท่านมาศึกษาพุทธศาสนา มาศึกษาวัฒนธรรมของไทย อยู่เมืองไทย เขาอยู่อย่างไร เขากินอย่างไร เขาทำอะไรอย่างไร ท่านก็ควรจะต้องรู้จัก ถ้าผมไปบำรุงบำเรอท่านทุกอย่าง ท่านก็จะโง่เท่านั้นแหละ จะฉันแต่ขนมปังอยู่เรื่อย...”
ต่อมา กุลบุตรชาวต่างชาติก็ทวีจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ หลวงพ่อได้เล่าว่า “ทั้งที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่ว่าฝรั่งยอมมาอยู่ด้วย เราก็พยายามฝึกให้เขารู้จักธรรมะตามความพอใจของเรา ถึงแม้เขาไม่รู้จักประเพณีอะไรของไทยก็ช่างมันเถอะ เราก็ไม่ถือ เพราะว่ามันเป็นอย่างง้ัน แล้วก็ค่อย ๆ ช่วยมาเรื่อยๆ” และในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ หลวงพ่อชาดำริให้มีวัดต่างหากสำหรับกุลบุตรที่มีรากฐานของวัฒนธรรมใกล้เคียงกันได้ปกครองกันเองอย่างราบรื่น เพื่อความกลมเกลียวกัน
ธรรมปรากฏ
การจาริกไปเผยแผ่พุทธธรรมในตะวันตกที่ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส เริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ ในปีนั้น หลวงพ่อชามีสิริอายุ ๕๘ ปีเต็ม เป็นพรรษาที่ ๓๘ ในโอกาสนี้ หลวงพ่อได้เขียนบันทึกเอง และได้ถ่ายทอดปรากฏการณ์ในส่วนลึกของใจออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรก ซึ่งท่านเรียกมโนธรรมนั้นว่า “ธรรมปรากฏ”
“...ประชาชนในยุโรปนี้ เขาได้ถึงจุดอิ่มตัวของด้านวัตถุทั้งหลาย แต่ยังไม่รู้จักพอ เพราะขาดธรรมะ เปรียบได้ว่าเหมือนผลไม้พันธุ์ดี เกิดอยู่ในสวนที่มีดินดี แต่ขาดคนดูแลรักษา ก็ให้ผลไม้ทั้งหลายเหล่านั้น ไร้คุณค่าเท่าที่ควรจะได้ เหมือนมนุษย์ที่ไร้คุณค่าจากการเกิดมาเป็นมนุษย์ฉะนั้น” หลวงพ่อเปรียบกรุงลอนดอนเสมือนสวนที่มีดินดี เป็นที่สมควรที่จะประกาศพระศาสนา ท่านจึงได้จัดลูกศิษย์ไว้ประจำ ก่อนเดินทางกลับสู่ประเทศไทย
หลวงพ่อได้ไปเยี่ยมคณะสงฆ์ที่ประเทศอังกฤษอีกครั้ง ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ระหว่างนั้น ท่านได้ไปแสดงธรรมและอบรมกรรมฐานในเมืองทางตอนเหนือ รวมถึงประเทศสก๊อตแลนด์ และได้ไปอบรมสั่งสอนธรรมที่ประเทศสหรัฐอเมริการาว ๑ เดือน
ปัจฉิมโอวาท
หลังจากที่หลวงพ่อชาได้จาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ประเทศอังกฤษครั้งแรกนั้น ท่านเริ่มมีอาการโงนเงน ต้องใช้ไม้เท้าช่วยประคอง และในเวลาต่อมา อาการของโรคความจำเสื่อมก็เริ่มปรากฏ เป็นอย่างนี้เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ก็มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และมีอาการเบื่ออาหารเพิ่มเข้ามา ทำให้อ่อนเพลียง่าย อาการเหล่านี้เป็น ๆ หาย ๆ เรื่อยมา ในที่สุด หลวงพ่อได้รับอาราธนาไปตรวจสุขภาพที่กรุงเทพฯ คณะแพทย์สรุปการวินิจฉัยว่า อาการอาพาธของหลวงพ่อนั้น เกิดขึ้นเพราะสมองส่วนหน้าซีกซ้ายขาดเลือดหล่อเลี้ยงและเริ่มทำงานผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีภาวะกระดูกข้อต่อสันหลังบริเวณช่วงคองอก หัวใจขาดเลือด ท่อทางเดินหายใจโป่งพอง และมีโรคเบาหวานด้วย หลังฉันยาแล้วอาการก็ทุเลาเล็กน้อย
อย่างไรก็ดี สุขภาพของหลวงพ่อได้ทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ คณะศิษย์จึงกราบอาราธนาไปจำพรรษาที่วัดถ้ำาแสงเพชรซึ่งอยู่บนภูเขา เพื่อรับอากาศบริสุทธิ์ ท่านได้ปรารภว่า “ญาติโยมสานุศิษย์ทั้งหลายไปเยี่ยม ก็ไม่ได้สนองศรัทธาอย่างเต็มที่ เพราะว่าเสียงมันจะหมดแล้ว ลมมันก็จะหมดแล้ว นับว่าเป็นบุญที่เป็นตัวเป็นตนมานั่งให้ญาติโยมเห็นอยู่ นี่นับว่าดีแล้ว ต่อไปก็จะไม่ได้เห็น ลมมันก็จะหมด เสียงมันก็จะหมด มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของสังขาร ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านสอนไว้ ขัยยะ วัยยัง คือความสิ้นไปเสื่อมไปของสังขาร”
“เสื่อมไปอย่างไร... เหมือนก้อนน้ำแข็ง... มันจะเสื่อมทีละน้อยทีละน้อย ไม่กี่นาที ไม่กี่ชั่วโมง... ละลายเป็นน้ำไป... พอเกิดมา เราเก็บเอาความเจ็บ ความแก่ ความตาย มาพร้อมกัน”
หลวงพ่ออาพาธหนัก จนเป็นอัมพาตนานถึง ๙ ปี ตลอดเวลาอันยาวนานนี้ หลวงพ่อได้ใช้สังขารที่เสื่อมโทรมนั้น แสดงธรรมแก่สานุศิษย์และสาธุชนที่ไปนมัสการอยู่ตลอดเวลา จนลูกศิษย์ทั้งหลายต่างรู้สึกว่า นี่เป็นปัจฉิมโอวาทที่เงียบเชียบและยาวนานของหลวงพ่อ เป็นโอวาทที่ลึกซึ้งที่สุด และรับได้ยากที่สุด เท่าที่ท่านเคยแสดงแก่ลูกศิษย์
ความเป็นจริงของสังขาร
ต้นปี พ.ศ. ๒๕๓๕ หลวงพ่อชามีอาการทรุดลงอย่างหนัก คณะแพทย์จึงได้นิมนต์หลวงพ่อเข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ผลการตรวจพบว่า มีน้ำท่วมปอด หัวใจวายจากเส้นเลือดอุดตัน ร่วมกับภาวะไตวายเฉียบพลัน แต่หลังจากรับการรักษา อาการก็ยังไม่ดีขึ้น จนกระทั่งคืนวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๓๕ คณะแพทย์ได้ประเมินอาการหลวงพ่อแล้วเห็นสมควรนิมนต์ท่านกลับวัดหนองป่าพง ในที่สุด เวลา ๐๕.๒๐ น. วันพฤหัสบดี ที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ หลวงพ่อได้ละสังขารไปด้วยอาการสงบ จบการเดินทางอันยาวนานในวัฏสงสารลง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการบำเพ็ญ พระราชกุศลศพหลวงพ่อชาเป็นเวลา ๗ วัน หลังจากนั้นทาง คณะสงฆ์มีมติให้มีการบำเพ็ญกุศลต่อไปตลอดทั้งปีจนถึงกำหนดการวันพระราชทานเพลิงศพที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ